วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

พายุหมุนเขตร้อนในประเทศไทย




1. ลักษณะทั่วไปของพายุหมุนเขตร้อน
พายุหมุนเขตร้อนเป็นคำทั่ว ๆ ไปที่ใช้สำหรับเรียกพายุหมุนหรือพายุไซโคลน (cyclone) ที่มีถิ่นกำเนิดเหนือมหาสมุทรในเขตร้อนแถบละติจูดต่ำ แต่อยู่นอกเขตบริเวณเส้นศูนย์สูตรเพราะยังไม่เคยปรากฏว่ามีพายุหมุนเขตร้อนเกิดที่เส้นศูนย์สูตร พายุนี้เกิดขึ้นในมหาสมุทรหรือทะเลที่มีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 26 หรือ 27 ขึ้นไป และมีปริมาณไอน้ำสูง เมื่อเกิดขึ้นแล้วมักเคลื่อนตัวตามกระแสลมส่วนใหญ่จากทิศตะวันออกมาทางทิศตะวันตก และค่อยโค้งขึ้นไปทางละติจูดสูง แล้วเวียนโค้งกลับไปทางทิศตะวันออกอีก พายุหมุนเขตร้อนเกิดขึ้นได้หลายแห่งในโลกและมีชื่อเรียกต่างกันไปตามแหล่งกำเนิด บริเวณที่มีพายุหมุนเขตร้อนเกิดขึ้นเป็นประจำ ได้แก่

- หาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก ทางตะวันตกของลองจิจูด 170 ตะวันออก เมื่อมีกำลังแรงสูงสุด เรียกว่า “ไต้ฝุ่น” เกิดมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน และตุลาคม เรียกว่า “ไต้ฝุ่น” เกิดมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน และตุลาคม
- มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือแถวทะเลแคริบเบียนและอ่าวเม็กซิโก เรียกว่า “เฮอร์ริเคน” เกิดมากในเดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม
- มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ฝั่งตะวันตกของประเทศเม็กซิโก เรียกว่า “เฮอร์ริเคน”
- บริเวณมหาสมุทรอินเดียเหนือ อ่าวเบงกอล เรียกว่า “ไซโคลน”
- บริเวณมหาสมุทรอินเดียเหนือ ทะเลอาระเบีย เรียกว่า “ไซโคลน
- มหาสมุทรอินเดียใต้ ตะวันตกของลองจิจูด 90 องศา “ไซโคลน”
- มหาสมุทรอินเดียใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปออสเตรเลีย เรียกว่า “วิลลี่วิลลี่”

พายุหมุนเขตร้อนเมื่ออยู่ในสภาวะที่เจริญเติบโตเต็มที่จะเป็นพายุที่มีความรุนแรงที่สุดชนิดหนึ่งในบรรดาพายุที่เกิดขึ้นในโลก มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณตั้งแต่ 100 กิโลเมตรขึ้นไป และเกิดขึ้นพร้อมกับลมที่พัดแรงมาก ระบบการหมุนเวียนของลมเป็นไปโดยพัดเวียนในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาเข้าสู่ศูนย์กลางของพายุในซีกโลกเหนือ ส่วนในซีกโลกใต้พัดเวียนตามเข็มนาฬิกา ยิ่งใกล้ศูนย์กลางลมจะหมุนเกือบเป็นวงกลมและมีความเร็วสูงที่สุด
ความเร็วลมสูงสุดที่บริเวณใกล้ศูนย์กลางนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาความรุนแรงของพายุ ซึ่งในย่านมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตกและทะเลจีนใต้มีการแบ่งตามข้อตกลงระหว่างประเทศดังนี้

- พายุดีเปรสชันเขตร้อน (tropical depression) ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 34 นอต(63 กม./ชม.
- พายุโซนร้อน (tropical storm) ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง 34 นอต (63 กม./ชม.) ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 64 นอต (118 กม./ชม.)
- ไต้ฝุ่น (typhoon) ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 64 นอต (118 กม./ชม.) ขึ้นไป

พายุดีเปรสชันเป็นพายุที่มีระดับความรุนแรงน้อยที่สุด ส่วนไต้ฝุ่นเป็นพายุที่มีระดับความรุนแรงสูงสุด เส้นผ่าศูนย์กลางอาจถึงพันกิโลเมตรหรือมากกว่านั้น ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางอาจสูงถึง 250 หรือ 300 กม./ชม. อันตรายจากน้ำท่วมหรือคลื่นลมแรงจึงมีมาก ไต้ฝุ่นในระยะเริ่มแรกจะมีลมพัดเข้าหาศูนย์กลางอย่างรุนแรง ทำให้ความกดอากาศบริเวณศูนย์กลางต่ำมาก การพัดเข้าหาศูนย์กลางอย่างรุนแรงของลมทำให้เกิดการหมุนเวียนของลมในระดับสูงขึ้นไปด้วย การหมุนเวียนที่เกิดขึ้นสังเกตได้จากกำแพงเมฆหนารอบ ๆ ตาพายุ ซึ่งมีลมพัดรุนแรง ฝนตกหนัก และมีการปลดปล่อยความร้อนจำนวนมาก ส่วนบริเวณถัดเข้ามาจากกำแพงเมฆจะมีลมค่อนข้างอ่อน (น้อยกว่า 12 นอต หรือประมาณ 22 กม./ชม.) บริเวณนี้เรียกว่า “ตาพายุ” ไม่มีฝน และแสงอาทิตย์สามารถส่องผ่านได้ ตาพายุมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 - 50 กิโลเมตร
ไต้ฝุ่นมีพลังงานมากมายมหาศาล โดยได้รับพลังงานมาจากพลังงานความร้อนแฝงซึ่งไอน้ำในทะเลกลั่นตัวเป็นน้ำ ในหนึ่งวันไต้ฝุ่นสามารถผลิตพลังงานได้เท่ากับลูกระเบิดไฮโดรเจนขนาด 1 ล้านตันของ ที เอ็น ที ได้มากกว่า 10,000 ลูก ด้วยเหตุนี้เมื่อไต้ฝุ่นเคลื่อนขึ้นฝั่ง ผ่านพื้นดิน และภูเขา จึงขาดพลังงานเสริมทำให้พายุอ่อนกำลังลง หรือเมื่อมีมวลอากาศเย็นเข้ามาผสมผสาน พลังงานของไต้ฝุ่นจะลดลงและค่อย ๆ สลายตัว จากเหตุผลดังกล่าวพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยส่วนใหญ่จึงมีกำลังแรงในขั้นพายุดีเปรสชัน โดยเฉพาะประเทศไทยตอนบน ซึ่งล้อมรอบด้วยประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า ประเทศเวียดนาม ประเทศลาว และประเทศกัมพูชา ส่วนภาคใต้เป็นพื้นที่เปิดติดฝั่งทะเลเมื่อมีพายุหมุนเขตร้อนก่อตัวหรือเคลื่อนตัวเข้ามาทางอ่าวไทยจึงมีโอกาสเคลื่อนขึ้นฝั่งภาคใต้ไดในขณะที่ยังมีกำลังแรงและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินทั้งบนฝั่งและในอ่าวไทยซึ่งจะมีคลื่นลมแรงจัดจนเป็นอันตรายอย่างมากต่อการเดินเรือ